พลูคาว



พลูคาว มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Houttuynia cordata Thunb. จัดอยู่ในวงศ์ (family) Saururaceae เป็น พันธุ์ไม้ล้มลุกอายุหลายปี พบได้ทั่วไปในทวีปเอเชียตั้งแต่แถบเทือกเขาหิมาลัยไปจนถึงเวียดนาม รวมทั้งไทยและญี่ปุ่น พลูคาวจะเป็นพันธุ์ไม้ที่รู้จักกันดีของทางภาคเหนือของไทย เนื่องจากลักษณะต้นที่มีกลิ่นคาวจึงมีชื่อเรียกกันในท้องถิ่นว่าผักคาวตอง นิยมนำมารับประทานเป็นผักจิ้มปลาร้าและลาบ สำหรับทางภาคกลางไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนัก พลูคาวมีชื่อที่เรียกตามท้องถิ่นต่างๆ คือ ภาคเหนือ เช่น ผักเข้าตอง ผักคาวตอง หรือ ผักก้านตอง (แม่ฮ่องสอน) และผักคาวปลา เป็นต้น ภาคกลาง มีชื่อเรียก เช่น ผักคาวทอง และ พลูคาว เป็นต้น จัดเป็นพันธุ์ไม้ล้มลุกที่มีขนาดเล็ก ลำต้นสีเขียว สูงประมาณ 15 – 20 ซม. ส่วนโคนที่แตะดินจะมีรากงอกออกมาตามข้อของลำต้น ออกใบเดี่ยวเรียงสลับกันไปตามข้อต้น ใบมีลักษณะเป็นรูปหัวใจ ปลายแหลม โคนใบเว้าขอบใบเรียบมีสีเขียว ท้องใบจะมีลายเส้นสีม่วงอ่อน ๆ ขนาดของใบ กว้างประมาณ 3.75 - 6.25 ซม. ยาว 3.75 - 7.50 ซม. ก้านใบยาว 1.25 - 3.75 ซม. ออกดอกเป็นช่ออยู่ตรงส่วนยอดของต้นประกอบด้วยดอกเล็กๆจำนวนมากติดกันแน่น เป็นแท่งทรงกระบอกยาวประมาณ 1 นิ้ว มีสีขาวออกเหลือง และในแต่ละข้อช่อนั้นจะมีกลีบรองดอกสีขาวอยู่ 4 กลีบ แต่ละกลีบยาว 1 นิ้ว ปลายกลีบมน เมื่อดอกแก่หรือร่วงโรยไปก็จะกลายเป็นผล ซึ่งจะมีลักษณะกลมรี ปลายผลแยกออกเป็น 3 แฉก รวมตัวเรียงกันแน่นยาวเป็นรูปทรงกระบอก เป็นพันธุ์ไม้กลางแจ้งที่ชอบขึ้นในดินที่ชื้นแฉะหรือริมน้ำทั่วไปสามารถขยาย พันธุ์ด้วยการแยกต้นและปักชำ

สรรพคุณในตำรับยาไทย

ต้น: ใช้รักษาโรคติดเชื้อและทางเดินหายใจ ฝีหนองในปอด ปอดบวม ปอดอักเสบ ไข้มาลาเรีย แก้บิด ขับปัสสาวะ ลดอาการบวมน้ำ นิ่ว ขับระดูขาว ริดสีดวงทวาร แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน ฝีฝักบัว แผลเปื่อย ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ แก้ไอ หลอดลมอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ


ราก: ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ใบใช้ แก้โรคบิด โรคผิวหนัง โรคหัด ริดสีดวงทวาร หนองใน
 ใบ: ใช้รักษาโรคบิด หัด โรคผิวหนัง ริดสีดวงทวาร หนองใน ใช้ปรุงเป็นยาแก้กามโรค ทำให้แผลแห้งเร็ว แก้โรคข้อและแก้โรคผิวหนังทุกชนิดทั้งต้นมีรสเย็นและฉุน ใช้เป็นยาแก้โรคบิด โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ขับปัสสาวะ แก้บวมน้ำ แก้ไอ หลอดลมอักเสบ ฝีบวมอักเสบ ริดสีดวงทวาร หูชั้นกลางอักเสบ
   
ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

1. ฤทธิ์ระงับปวด เร่งการเจริญเติบโตของเซลล์ ห้ามเลือด รักษาปริมาณของเหลวในร่างกาย    

2. ฤทธิ์ขับปัสสาวะ พบสารฟลาโวนอยด์ ที่แยกได้จากใบพลูคาวเป็นสารสำคัญในการออกฤทธิ์

3. ฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ น้ำมันหอมระเหยจากการกลั่นส่วนเหนือดินของพลูคาว พบว่ามีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียอย่างแรงต่อเชื้อ  Bacillus cereus และ B. Subtilis เชื้ออหิวาต์ Vibrio cholerae 0-1 และ V. Parahaemolyticus

4. ฤทธิ์ต้านไวรัส น้ำมันหอมระเหยจากพลูคาว ซึ่งประกอบด้วย n–decyl aldehyde, n–dodecyl aldehyde และ methyl–n–nonyl ketone สามารถยับยั้งการเจริญของไวรัสที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดใหญ่ในหลอดทดลองได้ นอกจากนี้ยังมีผลต่อไวรัสที่มีเปลือกหุ้ม 3 ชนิด ได้แก่ herpes simplex virus type–1 (HSV–1) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ และไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์ (HIV–1) และไวรัสที่ปราศจากเปลือกหุ้ม2ชนิดคือโปลิโอไวรัสและคอกซากีไวรัส

จากการศึกษาองค์ประกอบในน้ำมันหอมระเหยจากส่วนเหนือดินของพลูคาวโดยการกลั่น ด้วยไอน้ำ พบว่าประกอบไปด้วยสารที่เป็นองค์ประกอบหลัก 3 ชนิด คือ capryl aldehyde, 2-undecanone และ lauryl aldehyde โดย ปริมาณของสารในน้ำมันหอมระเหยที่พบในพลูคาวจากแต่ละท้องถิ่นนั้นมีองค์ ประกอบเหมือนกันแต่พบในสัดส่วนปริมาณที่แตกต่างกัน ดังมีรายงานปริมาณของ capryl aldehyde และ lauryl aldehydeที่พบในประเทศไทยมีปริมาณมากกว่าที่พบในประเทศญี่ปุ่น ส่วนพลูคาวที่ปลูกในประเทศญี่ปุ่นมีปริมาณของ 2-undecanone มากกว่า พลูคาวที่ปลูกในประเทศไทย การที่สารในน้ำมันหอมระเหยมีสัดส่วนของปริมาณที่แตกต่างกันอาจเนื่องมาจาก สภาพแวดล้อม พื้นที่ สภาพอากาศที่แตกต่างกัน จากคุณสมบัติของพลูคาวในการต้านเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสาเหตุ การเกิดโรคต่างๆของคน จึงได้มีการทดลองนำพลูคาวมาใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร โดยเฉพาะการนำมาควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืช โดยพบว่าสารคาพริลแอลดีไฮด์ (capryl aldehyde) ซึ่งได้จากการสกัดใบพลูคาวที่สกัดด้วยไดคลอโรมีเทนซึ่งเป็นตัวทำละลายไม่มี ขั้ว สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อรา Cladosporium cladosporioides และ Colletotrichum gloeosporioides ในห้องปฏิบัติการได้ นอกจากนี้การใช้สารสกัดจากใบพลูคาวโดยใช้ตัวทำละลายชนิดมีขั้ว คือ เมทธานอล ความเข้มข้น 50 และ 100 เปอร์เซ็นต์ และเอทธานอล 95 เปอร์เซ็นต์ พบว่าสารออกฤทธิ์ที่ตรวจพบเป็นสารประกอบพวกกรดเมทธิลเอสเทอร์ และนอกจากนี้การนำมาประยุกต์ใช้โดยการแช่ใบในเหล้าขาว 35 ดีกรี ก่อนนำมาแยกกากออก พบว่าสารสกัดหยาบสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อรา Alternaria brassicicola และเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides ได้ ผลดีเช่นกัน แต่สารออกฤทธิ์ที่ได้จากการสกัดด้วยตัวทำละลายที่มีขั้วนั้นค่อนข้างจะไม่ เสถียรหากถูกทิ้งไว้นานๆ เนื่องจากมีโอกาสถูกออกซิไดซ์โดยออกซิเจนในอากาศได้ง่ายและจะเสื่อม คุณสมบัติไปในที่สุด ดังนั้นการนำมาใช้ประโยชน์ควรนำมาใช้ทันทีเช่นการใช้ฉีดพ่นเพื่อยับยั้ง เชื้อโรคหรือใช้สำหรับแช่เพื่อกำจัดเชื้อที่ติดมากับท่อนพันธุ์หรือต้นกล้า

ที่มาของข้อมูล...คาวตอง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น